fbpx

มาสร้างมวลกระดูกด้วยการเดินกันค่ะ

พฤศจิกายน 7, 2019
Yoshinori Nagumo

นพ. อายุ 62 ที่ดูหนุ่มและแข็งแรงเท่าตอนอายุ 36 เผยเคล็ดลับ นอกจากกินมื้อเดียว แล้ว ยังต้องเดินมากๆโดยแนะนำให้ มาสร้างกระดูกขา ให้แข็งแรง ชดเชยแคลเซียม ได้ด้วยการเดินมากขึ้นเป็น 2 เท่าของคนปกติ !

จากนายแพทย์โยะชิโนะริ นะงุโมะ (Yoshinori Nagumo )ผู้อำนวยการใหญ่ของโรงพยาบาล 4 แห่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้เขียนหนังสือผลงานระดับ Best sellerในญี่ปุ่นมาหลายเล่ม เกี่ยวกับการรักษาร่างกายให้แข็งแรง ดูหนุ่มสาวตลอด

และหนึ่งในนั้น มีบทหนึ่งที่ชื่อว่า มาชดเชยแคลเซียมด้วยการเดินกันเถอะซึ่งเหมาะกับผู้สูงวัย จึงขอหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง..

คุณหมอแนะนำว่า “ถ้าอยากทำให้กระดูกแข็งแรง ต้องเดินให้มากเป็นสองเท่าของคนทั่วไป เพราะแรงโน้มถ่วง จะทำให้กระดูกเพิ่มปริมาณแคลเซียมในกระดูกได้ตามธรรมชาติ”

เดิมกระดูกเป็นเหมือนธนาคาร ซึ่งเก็บสะสมแคลเซียมเอาไว้ เมื่อแคลเซียมในเลือดลดลง ก็จะนำแคลเซียมจากกระดูกมาใช้แทน และเมื่อผู้สูงวัยมีการเดินที่ไม่เพียงพอ กระดูกก็จะค่อยๆเปราะบางลง

ถึงแม้จะกินแคลเซียมมากเพียงใด ก็ไม่มีผลช่วยอะไรมากนัก เพราะปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ “ปริมาณการออกกำลังกาย” ที่ผู้สูงวัยมีกิจกรรมลดน้อยลง ซึ่งบางรายในแต่ละวัน แทบไม่ได้มีการขยับตัวเลยนั่นเอง
นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับปริมาณฮอร์โมนที่ลดลงอีกด้วย เพราะเดิมทีฮอร์โมนเพศ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนเพศชาย ต่างก็มี ฤทธิ์เสริมสร้างทำให้กระดูกแข็งแรงและกล้ามเนื้อที่บึกบึน

สำหรับผู้ชายนั้น ถึงแม้จะใกล้วัย 80 ปี แต่ปริมาณฮอร์โมนเพศชายที่ผลิตออกมาก็ไม่น้อยไปกว่าช่วงวัยรุ่นนัก ในขณะที่ผู้หญิงนั้นฮอร์โมนเพศหญิง จะเริ่มลดลงตั้งแต่อายุประมาณ 25 ปี และจะหยุดผลิตเมื่อหมดประจำเดือนตอนอายุประมาณ 50 ปี

แน่นอนว่า…หากไม่มีฮอร์โมนเพศ ก็จะไม่สามารถหล่อเลี้ยงร่างกายได้ ธรรมชาติจึงจำเป็นต้องผลิตฮอร์โมนทดแทนขึ้นมา ชื่อว่า แอนโดรเจน (Androgen)” ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย ที่หลั่งออกมาจากต่อมหมวกไตเพื่อชดเชยฮอร์โมนเพศหญิงในส่วนที่ขาด แต่แอนโดรเจนก็ไม่ได้มีปริมาณมากเพียงพอ กระดูกจึงไม่สามารถรักษาแคลเซียมเอาไว้ได้

นอกจากนั้นผู้สูงวัย ยังมีแนวโน้มที่จะเดินน้อยลงเรื่อยๆ
ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงยิ่งทำให้ขาดแคลเซียมมากขึ้นไปอีก ส่งผลทำให้มีอาการปวดหัวเข่า และ ปวดสะโพก พอปวดแล้วก็จะยิ่งเดินน้อยลงไปอีก จนถึงขั้นต้องนั่งรถเข็น ซึ่งจะยิ่งเข้าสู่วงจรที่แย่ลงที่ทำให้เพื่อนๆยิ่งมีกระดูกอ่อนแอลงไปจนเกินแก้ไขและเดินด้วยขาตนเองไม่ได้

ในทางกลับกัน ต่อให้เป็นวัยหนุ่มสาว หากนั่งทำงานอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ วันๆแทบไม่มีการขยับตัว แล้วจู่ๆวันหนึ่งก็ลุกขึ้นมาใช้ขาอย่างหักโหมในการไปท่องเที่ยวทันที ก็จะมีอาการปวดข้อปวดเข่า เพราะร่างกายไม่เคยชิน ดังนั้น เราจึงควรฝึกนิสัยรักการเดินให้เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ

คุณหมอโยะชิโนะริ นะงุโมะ (Yoshinori Nagumo )มีอายุถึง 60 ปีแล้ว แต่อายุกระดูกที่ตรวจวัดได้ ยังมีอายุเพียงแค่ 28 ปี ซึ่งอ่อนกว่าอายุจริงกว่า 30 ปี นั่นเป็นเพราะคุณหมอรักการเดินเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคุณหมอบอกว่า การเดินน้อยในวัยเด็กที่สะสมมา จะมีผลอย่างยิ่งต่อระดับความรุนแรงของโรคกระดูกพรุน เมื่ออายุมากขึ้น

ดังนั้น พ่อแม่ที่โอ๋ลูกมาก ไม่ยอมให้ลูกได้เดินไกล เพราะกลัวลูกเหนื่อย หรือกลัวลูกลำบาก ควรจะรีบเปลี่ยนความคิดใหม่ อย่าได้ทำร้ายสุขภาพของลูกในระยะยาว ที่จะเดินด้วยขาตัวเองไม่ได้ เมื่อมีอายุที่มากขึ้น เเละพ่อแม่ชาวญี่ปุ่น จะฝึกให้ลูกเดินเยอะๆ ถ้าบ้านและโรงเรียนไม่ไกลจากกันมากนัก ก็จะใช้วิธีเดินไปกลับ แทนการนั่งรถไฟฟ้า หรือ ถ้าขึ้นรถไฟฟ้า ก็จะพยายามให้เด็กๆได้ยืน เพื่อฝึกกำลังขาและสะโพก เพราะการฝึกขาและสะโพกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก จะเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงของกระดูกไปตลอดชีวิต”


📍📍📍📍
*** คอลัมน์ “เสาร์สรรสร้าง” เสาร์ที่ 1 มีค. 62 เสนอวิธีสร้างแคลเซียมเสริมความแข็งแรงกระดูกด้วยตนเองได้ ด้วยการเดินมากๆ

“สุขภาพดีเป็นสุนทรียภาพและความงามคือความสุข”

ปรึกษาสอบถามเรื่องสุขภาพได้ที่

ADD US ON LINE
FACEBOOK PAGE
โทร (Call) +662 661 4431
อีเมล์ (E-mail) info@drorawan.com

Related Blogs/บทความที่น่าสนใจ

7 habits of emotionally intelligent person
Posted by Dr. Orawan | พฤษภาคม 21, 2021
นิสัย 7 ประการของผู้ฉลาดทางอารมณ์
กล่าวโดยสรุป ผู้ที่มีความฉลาดท...
what is probiotic
Posted by Dr. Orawan | พฤษภาคม 21, 2021
Probiotics คืออะไร? สุขภาพดี…เริ่มต้นที่ลำไส้
การที่จะทำให้ลำไส้ของเราแข็งแร...
โรคเบาหวาน ความดัน
Posted by Dr. Orawan | พฤษภาคม 21, 2021
แอบฟังเซลล์ในร่างกายคุย(บ่น)กัน
แอบฟังเซลล์ในร่างกายคุย(บ่น)กั...