โรคอัลไซเมอร์ (ALZHEIMER) คืออะไร?
“จะมีชีวิตยืนยาวไปทำไม
หากวันเวลาที่เหลือไร้ซึ่งความทรงจำ ?
จะมีชีวิตความทรงจำมากมายไปทำไม
หากในความทรงจำนั้นปราศจากความรัก
วันที่ ๒๐ กันยายนที่ผ่านมานี้ ศูนย์โรคสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดกิจกรรมวันอัลไซเมอร์โลก ฉายภาพยนตร์เรื่อง Still Alice ได้รับเกียรติจาก ม.ล ภาสันต์ สวัสดิวัฒน์ หรือคุณอิ๊งค์ ปิ่นโตเถาเล็ก ทายาทของ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ซึ่งวันนี้สืบทอดต้นตำนานกูรูความอร่อย ด้วยความเชี่ยวชาญด้านอาหาร ปัจจุบันเป็นทั้งนักเขียน พิธีกรมากความสามารถและกรรมการรายการมาสเตอร์เชฟ และอีกสองวิทยากรคนสำคัญประจำรายการ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ และ ผศ.นพ. สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย ดำเนินรายการโดยพิธีกรกิตติมศักดิ์ คุณวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
Still Alice เป็นเรื่องราวของ Alice ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาสัทศาสตร์ (วิชาด้านภาษาศาสตร์และการออกเสียง) ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในทุกด้าน มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับโลก เขียนตำราภาษาศาสตร์ที่ใคร ๆ ต้องอ่าน มีครอบครัวที่ดี ลูก ๆ น่ารัก สามีสุดประเสริฐ แต่อนิจจังมาเยือนในวันที่เธอมีทุกสิ่งครบ โรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นกับเธอในวัยเพียง ๔๗ ปี ค่อยๆ ริบทุกสิ่งที่เธอมีไปจากชีวิต ทั้งความสามารถในการคิด การงาน ความจำ การสื่อสาร ความภูมิใจในชีวิตและทุกสิ่ง
หรือทุกสิ่งที่เราคิดว่า “มี”
เป็นเพียงสิ่งที่บรรจุในความคิดและความทรงจำ
พอสมองส่วนนี้ไม่ทำงาน มนุษย์จึงไม่อาจครอบครองสิ่งใดได้อีกเลย นอกจากกาย ใจ ขันธ์ห้า
ที่ทำหน้าที่ตามธรรมชาติของการเกิดดับ
อันเป็นความจริงที่รอการเรียนรู้
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ หรือป้าศรี เล่าประทับใจหนังเรื่องนี้ว่า “ศิลปะแห่งความสูญเสีย ทำให้เราต้องรู้สึกกับตัวเองเยอะว่า ถ้าเราแก่โดยไม่มีศิลปะ ชีวิตจะเป็นอย่างไร ศิลปะไม่ใช่ศาสตร์ ไม่ใช่เพราะอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เป็นศิลป์ที่ต้องใช้ใจมาผสมกับสมอง ถ้าเราไม่เรียนรู้ศิลปะนี้จะมีความขัดแย้งในใจมากมาย เป็นศิลปะที่เรียนจากคนอื่นไม่ได้ ต้องเรียนจากตัวเราเอง สิ่งที่น่าสนใจใน Alice คือ เธอเป็นคนฉลาด ประสบความสำเร็จมาก ความสูญเสียก็จะเยอะกว่าคนอื่น ซึ่งมากกว่าคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังสูญเสีย ศิลปะแห่งการสูญเสียจึงเป็นศิลปะแห่งการยอมรับด้วย สิ่งที่งามที่สุดที่เหลืออยู่ในชีวิต คือความรัก ซึ่งมาจากลูกสาวคนที่เคยทะเลาะกันมากที่สุด กลั่นมาเป็นความรักที่ละเอียดที่สุด”
ในทางกลับกันการสูญเสียความทรงจำด้วยโรคอัลไซเมอร์ ก็มีข้อดีอยู่บ้าง ป้าศรีเล่าถึงคนที่รู้จักท่านหนึ่งว่า เขาเป็นมะเร็งและอัลไซเมอร์ในเวลาเดียวกัน ภรรยาก็เจ็บหนักใกล้เสียชีวิต ส่วนดีของอัลไซเมอร์คือ เขามีความสุขตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง และถ้าภรรยาเสียชีวิตก็ไม่เสียใจเพราะจำไม่ได้ คนไข้เองอาจไม่มีปัญหา แต่คนที่แวดล้อมนั้นต้องจัดการใจให้ดี
บางครั้งเมื่อมีความทรงจำ แล้ววันนึงเราต้องสูญเสียมันไป
อาจทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตกำลังสูญเสีย
แต่ทว่าในภาวะไร้ความทรงจำ คือความไม่มีอะไรเลย
นั่นก็คือไม่มีความสูญเสียให้เสียศูนย์เช่นกัน
ชีวิตจะอนุญาตให้อยู่แค่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น
ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต
อัลไซเมอร์กำลังแสดงธรรมให้ปรากฏ
ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัฒน์ หรือคุณอิ๊งค์ เล่าให้พวกเราฟังว่า
“ คุณพ่อและคุณแม่เป็นอัลไซเมอร์ คุณชายถนัดศรีเป็นตอน ๘๔ เสียตอน ๙๓ เป็นอยู่แปดปี เริ่มต้นจากพูดวิทยุเรื่องเดียวกันสามครั้งทำรายการโดยจำไม่ได้ว่าทำอะไร”
คุณอิ๊งค์เล่าถึงการดูแลคุณพ่อว่า
“คุณชายถนัดศรีตอนป่วย มีเข้าโรงพยาบาลบ้าง มองให้เป็นเรื่องธรรมชาติ มองให้สนุก ช่วงแรกอาจกังวล ก็หาข้อมูลศึกษาเพิ่มเติม ยาช่วยแค่ชะลอ อาการทางกายมีแต่เสื่อมลง ไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิม เมื่อรับได้ ก็เริ่มจะคุ้นเคย เรียนรู้และยอมรับ เพื่อรับมือกับทุกสิ่ง สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์คืออย่าให้คลาดสายตา สำหรับคุณพ่อมีคนดูแลประกบสามคนตลอด ๒๔ ชั่วโมง ด้วยความเป็นครอบครัวใหญ่ ก็จะมีคนช่วยกันดูแล ทุกคนเป็นคนสนุก ที่สุดแล้ว ทำใจได้เอง ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเค้าเป็นยังไง ไม่ต้องพะวงว่าวันข้างหน้าเค้าจะเป็นยังไง
คุณชายถนัดศรีเสียชีวิตด้วยมะเร็งในท่อน้ำดีระยะสุดท้าย รู้ไม่ถึงเดือน ในช่วงท้ายคุณชายความจำกลับมาดีมีความสุข ได้ใช้ชีวิตกับคนที่รัก ได้ให้โอกาสคนที่รู้จักรักใคร่มาพบเจอ ยังคงร้องเพลงได้ไพเราะ มีอารมณ์ขัน หยอกล้อคุณพยาบาลได้อย่างรื่นเริง ใช้ชีวิตมีความสุขจนระยะสุดท้าย ”
สำหรับคุณแม่ คุณอิ๊งค์เล่าว่า “คุณแม่เป็นอัลไซเมอร์ ตอนอายุ ๗๔ ตอนนี้ ๗๙ แต่ก่อนคุณแม่ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสนุกสนาน เที่ยวตลอดเวลา อยู่มาวันหนึ่งคุณแม่ยกไวน์สามขวดราคาหมื่นกว่าให้กับช่างไฟ เบิกเงินทีละแสน ในสองเดือนหายไปสี่แสน อยู่ดี ๆ ทานข้าววันละแปดมื้อ เพราะไม่รู้ว่าทานแล้ว น้ำหนักขึ้นมาหกเจ็ดโล เมื่อไปหาหมอจึงได้รู้ว่าเป็นอัลไซเมอร์ อาการแบบเดียวกับ Alice พูดผิดเรียกผิด พฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่กระปรี้กระเปร่าเท่าเดิม อยู่นิ่ง ๆ มากขึ้น นอนเยอะขึ้น ความชอบต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป”
คุณอิ๊งค์แนะนำเรื่องการดูแลว่า “เราต้องเรียนรู้พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปใหม่ แล้วปรับตัวให้ได้ ทำให้เป็นเรื่องสนุกและทำใจด้วยในบางเรื่อง การทำให้คนป่วยมีความรู้สึกดี ๆ สัมผัสถึงความรักได้มีความสำคัญยิ่ง ตอนนี้คุณแม่ไม่ได้มีวันที่ดี-ไม่ดี มีแต่วันที่แม่ไม่รู้เรื่อง สิ่งที่แม่รู้คือ ทุกครั้งที่ผมยิ้มให้ คุณแม่ยิ้มตอบทุกครั้ง ความรักสื่อสารถึงกันได้เสมอ คุณแม่จะดีใจทุกครั้งที่ได้เจอหลาน
สิ่งที่เรียนรู้คือเมื่อมีญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคนี้ ให้ดูว่าคนไข้ชอบอะไร แล้วดูแลสิ่งที่เขาชอบด้วยความรัก ทำสิ่งที่เขาชอบมีความสุขให้เหมาะสมกับเขา ให้เขามีโมเมนต์ดี ๆ ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับโมเมนต์นั้นที่ได้ทำสิ่งที่มีความสุข”
#อัลไซเมอร์โรคที่ดูแลด้วยหัวใจ
ในทัศนะของคุณหมอสุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย จิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญโรคสมองจากศูนย์โรคสมองโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณหมอเล่าให้เราฟังว่าขณะนี้โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกกำลังให้ความสำคัญในการสร้างการตระหนักรู้ ไม่ให้คนมองโลกนี้ลบเกินไป การเป็นอัลไซเมอร์ไม่ได้ทำให้มีคุณค่าน้อยลง เราสามารถป้องกันดูแลได้หากรู้จักและเท่าทัน
คุณหมอพูดถึงหนังเรื่องนี้ว่า Alice เป็นศาสตราจารย์ที่เก่งกาจในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แต่โชคร้าย เธอเป็น Early Onset Alzheimer มีสองกลุ่ม
๑. กลุ่มคนสูงอายุทั่วไปตั้งแต่ ๖๕ ปีขึ้นไป อายุที่ต่ำกว่านี้มีไม่ถึง ๑๐ %
๒.กลุ่มที่เป็นแบบลุกลามเร็ว มักจะเป็นยีนในครอบครัว
“ภาวะสมองเสื่อมของ Alice เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวทุกอย่างในชีวิต ในช่วงเริ่มต้นจะเรียกว่า “ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย” (MCI) คนไข้จะมีปัญหาเรื่องความสามารถทางสมองเสื่อมลงอย่างชัดเจน Alice จะนึกถึงบางสิ่งไม่ออก ความทรงจำที่เป็นเหตุการณ์ผ่านไปในช่วงชีวิตที่เรียกว่า Episodic Memory เหมือนกล้องบันทึกว่าทำอะไรมาบ้าง ในส่วนนี้สมองจะไม่จดจำเป็นสาระ แต่ถูกบันทึกโดยอัตโนมัติ ความทรงจำส่วนนี้ก็จะสูญเสียไปก่อน
ผู้ป่วย MCI ยิ่งฉลาดมากก็จะยิ่งซ่อนอาการขี้ลืมได้แนบเนียนมากขึ้น เช่น ถามทวนซ้ำเพื่อหาคำตอบที่ตัวเองจำไม่ได้ อาการเด่น ๆ ของอัลไซเมอร์ระยะแรกจะมีอีกประการ ก็คือหลงลืมทิศทางนึกคำไม่ออก ทำอะไรซ้ำๆ ถ้าเป็นแค่ MCI จะทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้ตามปกติ MCI มักจะเป็นผู้ป่วยช่วงอายุ ๗๐ ต้น ๆ คนก็เลยคิดว่าเป็นปกติของผู้สูงอายุ ซึ่งถ้ามีอาการ MCI แล้วอาการของโรคจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็วในหกเดือนถึงสองปี
ลักษณะอาการสมองเสื่อม
๑. ระยะแรกเริ่มจำไม่ได้ เริ่มหลงทาง
๒. การใช้ภาษา การรับรู้ความรู้สึกจะเปลี่ยนไป
๓. สื่อสารไม่ค่อยได้ บุคลิกหน้าตาจะไม่แสดงความรู้สึก ปฏิสัมพันธ์ไม่ดี จำคนไม่ได้
๓. เดินและทานอาหารไม่ค่อยได้ กลืนแล้วสำลัก นำมาสู่การติดเตียง
โดยทั่วไปความสามารถในการจดจำจะสูญเสียก่อน ศูนย์การตัดสินใจการวางแผนจะสูญเสียน้อยที่สุด มาตรการป้องกันไม่ให้อัลไซเมอร์มาหาเราเร็วเกินควร ก็คือดูแลสุขภาพ ดูแลโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงออกกำลังกายบริหารจิตใจ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบ้าง เจริญสติ นั่งสมาธิ
คุณหมอสุขเจริญเน้นว่า การดูแลด้วยความรักสำคัญที่สุด ในส่วนของการสัมผัสใจ ให้ความสุขนั้นเยียวยาคนไข้ได้ดีที่สุด และมีผลดีขึ้นในทางกายภาพ ดังนั้นจึงควรหาสิ่งที่ผู้ป่วยทำแล้วมีความสุขอารมณ์ดี เช่น ชวนคุย เล่าเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุข ให้ดูภาพ ชี้ชวนให้ทำกิจกรรมที่ชอบ “ความรู้สึก”เท่านั้นที่จะตราตรึงลงถึงใจได้ ในวันที่ความคิดและความทรงจำพร่าเลือน
ดุจดังโฟลเดอร์ในคอมที่ Alice ใส่ข้อมูลการวางแผนจบชีวิตของตัวเองไว้ในโฟลเดอร์นี้ที่ชื่อว่า Butterfly คุณหมอสรุปท้ายอย่างงดงามว่า
“ ชีวิตคนเราไม่ได้ยืนยาว
ผีเสื้ออายุสั้นมาก แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สวยงาม”
สำหรับคุณหมอ ชีวิตสวยงามได้วยความรัก ความผูกพัน โมเมนต์ดี ๆ ในความทรงจำ ที่มีต่อครอบครัวที่เต็มไปด้วยความสุข เต็มไปด้วยความรัก
#นี่คือสิ่งที่อัลไซเมอร์เอาจากเราไปไม่ได้”ความรัก”♥️
♥️Dr.Orawan
“สุขภาพดีเป็นสุนทรียภาพและความงามคือความสุข”
สนใจ ปรึกษาสอบถามเรื่องสุขภาพได้ที่
ADD US ON LINE
FACEBOOK PAGE
โทร (Call) +662 661 4431
อีเมล์ (E-mail) info@drorawan.com
#drorawan #sukhumvit #docter #skin #holistic #beauty #สุขภาพ #ความงาม #tips