fbpx

โรคหูด (Warts) น่ากลัวไม่แพ้โรคอื่นๆ

โรคหูด (Warts) น่ากลัวไม่แพ้โรคอื่นๆ

มิถุนายน 11, 2019
โรคหูด

โรคหูด (Warts) เป็นโรคผิวหนังที่ทำให้หลายคนเครียด ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้เลยว่าไปติดเชื้อหูดไวรัสมาตั้งแต่เมื่อไหร่ อยู่ๆโรคหูดก็โผล่ขึ้นมาทันที เห็นแล้วเครียดเลย

หลายคนคงเคยพยายามกำจัดหูดด้วยตัวเอง แต่ไม่ได้ผล แถมยังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยาฆ่าเชื้อทั้งแบบกินและแบบทาก็มักไม่ได้ผล

แล้วเราควรจะรักษาหรือป้องกันอย่างไรดี?

อย่าเพิ่งหมดหวังค่ะ วันนี้หมอจะมาอธิบายทุกอย่างที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคหูด

โรคหูด (Warts) สาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน

โรคหูด (Warts) คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่เหมือนมีเนื้องอกโผล่ขึ้นมา ขนาดก้อนเนื้อจะมีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นมานานและตำแหน่งของร่างกายที่เป็นหูด มักไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคัน

ผิวจะมองดูคล้ายกำมะหยี่สีเนื้อ ถ้าพยายามตัดเองจะมีจุดเลือดออกเล็กๆหลายจุดบนผิวให้เห็น ซึ่งไม่ควรชะล่าใจไปนะค่ะ เพราะสามารถติดต่อไปผิวส่วนอื่นๆได้หรือติดต่อไปยังคนอื่นได้ผ่านการสัมผัส

เมื่อสงสัยหรือพบความผิดปกติกับผิวหนัง เราควรรีบพบแพทย์ผู้เขี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อปรึกษาทันที

อวัยวะส่วนที่หูดชอบขึ้นมากที่สุด คือ ส่วนที่มีการสัมผัสติดโรคมาได้ง่าย เช่น นิ้วมือ มือ นิ้วเท้า เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือ หรือที่อวัยวะเพศด้วย

โรคหูดไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นโรคติดต่อน่ารังเกียจได้ และในบางตำแหน่ง เช่น อวัยวะเพศ ก็สามารถก่อให้เกิดและกลายเป็นมะเร็งได้ด้วย

ระยะเวลาในการเกิดโรคหูดขึ้นอยู่กับภูมิต้านทาน หรือความแข็งแรงของสุขภาพของแต่ละบุคคล บางคนอาจหายเองได้ เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อร่างกายเเข็งแรงสร้างภูมิรักษาเองได้ แต่บางคนก็อาจไม่หายเลยแถมลามเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

โรคหูด เกิดจากอะไร?

โรคหูดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human Papilloma Virus (HPV) คนส่วนใหญ่มักมีประวัติการเป็นหูดมาก่อน อุบัติการเกิดโรคนี้ในผู้หญิงและผู้ชายเท่ากันเลยคะ

เมื่อติดเชื้อไวรัสแล้ว จะยังไม่แสดงอาการทันที มักใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน บ้างเป็นปีกว่าจะแสดงอาการเกิดเป็นตุ่มหูดขึ้นมาให้เห็น ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน

เชื้อไวรัส HPV จะไปทำให้ชั้นผิวหนังเรามี เคราติน (Keratin) ที่เป็นชั้นโปรตีนของหนังกำพร้าหนาตัวขึ้น จนเป็นตุ่มสีเนื้อโผล่ขึ้นมาบนผิวชั้นนอก นานวันเข้าก้อนหูดก็ยิ่งโตมากขึ้น

โรคหูดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดซึ่งในบางตำแหน่ง จะเป็นชนิดที่สามารถเข้าไปแบ่งตัวในรหัสพันธุกรรม ก่อให้เกิดความผิดปกติและก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะที่ติดทางอวัยวะเพศและเยื่อบุกล่องเสียง

โรคหูดเป็นโรคติดต่อทางการสัมผัสทั้งโดยตรงหรือการใช้สิ่งของร่วมกันกับคนอื่น เช่น ผ้าขนหนู หวี เครื่องกีฬาไม้ปิงปอง ไม้เทนนิส รองเท้า อาจทำให้เราติดเชื้อมาได้ การใช้อุปกรณ์หรือสถานที่ร่วมกับคนที่เป็นโรคหูด เข่น เก้าอี้นั่ง มือจับต่างๆ เป็นต้น

ชนิดของหูดที่ทุกคนควรทราบ

โดยทั่วไป หูดที่เราต้องรู้จักมีอยู่ด้วยกัน 6 ชนิดที่พบบ่อย แต่ละชนิดก็มีลักษณะที่แตกต่างกันตามตำแหน่งที่เป็น

1. หูดแบบธรรมดา (Common Warts)

หูดชนิดนี้อาจจะมีอยู่แค่เม็ดเดียว หรืออยู่กันเป็นกระจุกหลายเม็ด มีลักษณะนูนแข็ง สีของหูดมีทั้งสีดำและสีเข้มกว่าสีผิวปกตินิดหน่อย ผิวคล้ายกำมะหยี่ มักจะขึ้นตามนิ้วมือและนิ้วเท้า แต่ก็สามารถลามไปที่อื่นได้เหมือนกัน

2. หูดฝ่ามือฝ่าเท้า (Palmo-Plantar Warts)

หูดฝ่ามือฝ่าเท้าจะมีขนาดใหญ่กว่าหูดธรรมดา พบมากที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าหรือบริเวณใกล้เคียง
หูดชนิดนี้จะสังเกตเห็นมีรูเล็กๆอยู่ และผิวบริเวณรอบๆมีลักษณะเป็นไตหรือแผ่นหนาแข็ง (ต้องแยกจากตาปลาที่เกิดจากการหนาตัวของผิวหนังฝ่าเท้าบริเวณที่นำ้หนักกดทับมากจะเป็นจุดคล้ายตาปลาและกดเจ็บแต่ไม่ติดต่อ)

3. หูดชนิดแบบราบ (Flat Warts)

หูดชนิดนี้ก็เหมือนชื่อเลยค่ะ จะมีผิวค่อนข้างเรียบ อาจจะมีลักษณะนูนขึ้นนิดหน่อย หูดชนิดนี้มักจะขึ้นที่ใบหน้า ปาก และจมูก อาจมีลักษณะบางเล็กจนเราอาจไม่ได้สังเกต

4. Filiform Warts

Filiform Warts มักจะขึ้นบริเวณรอบปาก ตา จมูก และบางทีก็จะขึ้นที่คอ บริเวณใต้คาง และรักแร้ได้ด้วย สีของหูดชนิดจะเหมือนสีผิวค่ะ ลักษณะเป็นติ่งสีเนื้อมีก้านเล็กๆ

5. Periungual Warts

Periungual Warts ซึ่งเป็นใต้หรือข้างเล็บนิ้วมือนิ้วเท้า หูดชนิดนี้อาจจะทำให้เรารู้สึกเจ็บบริเวณที่หูดขึ้น และมีผลต่อการเจริญเติบโตของเล็บด้วย

6. Genital Warts

Genital Warts เป็นหูดที่ขึ้นที่อวัยวะเพศ

แบ่งเป็น 1) ส่วนผิวหนัง จะเหมือนหูดธรรมดาที่พบบ่อย ในข้อ1

และ 2 ) ชนิดที่เป็นบริเวณเยื่อบุ ซึ่งจะเป็นหูดที่อ่อนนุ่มและงอกออกมาแตกหน่อคล้ายดอกกะหล่ำ

เป็นได้ทั้งชายหญิง ซึ่งสามารก่อให้เกิดมะเร็งของอวัยวะเพศได้หากรักษาไม่ทันท่วงที หูดชนิดนี้จะต้องแยกจากโรคซิฟิสิส (Syphilis) ซึ่งเป็นอีกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อซิฟิลิส

ซึ่งมีวิธีวินิจฉัยและการรักษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโรคหูด จึงต้องพบผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังเท่านั้น ซึ่งจะต้องตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัย ด้วยเนื่องจากการดูลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวจะวินิจฉัยไม่ได้

เป็นโรคหูด ต้องไปหาหมอไหม?

ดังที่อธิบายข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

รักษาหูดเองที่บ้านได้ไหม?

การพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เป็นวิธีที่ดีที่สุด

หากจะรักษาเองที่บ้าน สิ่งที่ควรทราบ คือ

  • โรคหูดสามารถลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ และยังสามารถติดต่อผู้อื่น จึงควรรีบรักษาและไม่ใช้ที่ตัดเล็บไปตัดหูดเพราะจะติดต่อไปยังส่วนอื่นของตนเอง หรือติดคนอื่นได้ถ้าใช้ร่วมกัน
  • ผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง ห้ามตัดหรือรักษาหูดที่ปลายมือปลายเท้าด้วยตัวเองเด็ดขาด ควรเข้าพบแพทย์ เพราะการเป็นเบาหวานมานานจะสูญเสียความรู้สึกที่ปลายมือปลายเท้าไป มีอาการชาทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
  • บริเวณควรระวัง เช่น ที่หน้า อวัยวะเพศ ปาก ตา และจมูก เป็นต้น หูดบริเวณนี้หมอไม่แนะนำให้ดึงหรือกำจัดหูดออกเอง ควรเข้าพบแพทย์ค่ะ

แพทย์มีวิธีรักษาหูดอย่างไรบ้าง?

หลักการในการรักษาหูด คือ การกำจัดเชื้อไวรัสและเพิ่มภูมิต้านทาน พร้อมป้องกันการแพร่เชื้อติดต่อ ซึ่งทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และลักษณะของโรค เช่น ยาทา จี้ด้วยเลเซอร์ เป็นต้น

การรักษาแบบองค์รวมที่เน้นเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ด้วยวิธีต่างๆ เช่น Homoeopathy การใช้สารสกัด และวิตามินที่เพิ่มภูมิต้านทานท้ังเซลล์เม็ดเลือดขาว NK Cell และแอนตี้บอดี้ (Antibody) จะเป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย ให้สู้กับโรคอื่นๆได้ด้วยนอกจากโรคหูดค่ะ

ทิปส์ดีๆในการป้องกันโรคหูด

โรคหูดมีวิธีป้องกันค่ะ ข้อดี คือ นอกจากเราจะไม่เป็นโรคหูดแล้ว เรายังลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไวรัสให้กับคนใกล้เคียง หรือส่วนอื่นๆของร่างกายตนเองด้วยคะ

  1. ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเราไปสัมผัสกับคนและสิ่งต่างๆ
  2. อย่าแกะหรือดึงหูดออกเอง
  3. ควรปิดหูดไว้ด้วยพลาสเตอร์
  4. รักษามือและเท้าให้แห้งตลอดเวลา
  5. ไม่ใช่อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆร่วมกับผู้อื่น หากจำเป็นให้ใส่ถุงมือถุงเท้าหรือทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง
  6. หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือใส่ถุงยางกรณีมีเพศสัมพันธ์เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ

เชิญรับคำปรึกษาโรคหูดและโรคผิวหนังอื่นๆกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังได้ที่ สถาบันสุขภาพผิวหนังและการแพทย์ชะลอวัยแบบองค์รวมดร.อรวรรณที่:
สาขากรุงเทพ: สุขุมวิท 02-6614431
สาขาภูเก็ต: 076-377679
แวะสอบถามด้วยตนเองกับทีมงานของเราได้ที่ สถานี BTS ชิดลม ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.30–18:30 ค่ะ

บทความนี้หากท่านเห็นว่ามีประโยชน์ กด Share ให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะค่ะ

Add a comment

*Please complete all fields correctly

Related Blogs/บทความที่น่าสนใจ

Posted by Dr. Orawan | พฤษภาคม 31, 2023
หัวไชเท้า ทานอาหารเป็นยา
หัวไชเท้า ❤️ เมื...
Posted by Dr. Orawan | พฤษภาคม 31, 2023
HIIT ( high intensity interval training )
HIIT ( high intensity interval...
Posted by Dr. Orawan | ธันวาคม 20, 2022
ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดคือช่วงที่ความมั่นใจในตัวเองพุ่งถึงขีดสูงสุด
ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดคือช่ว...