fbpx

ความดันโลหิต ไม่รู้สึกแต่ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย

ความดันโลหิต ไม่รู้สึกแต่ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย

มิถุนายน 17, 2019
ความดันโหลิตสูง

ความดัน 2018 ใครเป็นบ้างที่จะต้องทานยาลดความดันโลหิตตามกฎเกณฑ์ใหม่ล่าสุดของปี 2018

นี่คืออีกหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน และ หลอดเลือดสมองแตก หรือ ตีบ หรืออัมพฤกษ์อัมพาตค่ะ

วันนี้คุณ วัดความดัน แล้วหรือยัง !!

ความดันโลหิตสูง เป็น ภัยเงียบ คะ เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเลย..ไม่ปวด ไม่มึนศีรษะเลย ถึงแม้ความดันจะสูงมาก.ไม่วัดก็จะไมทราบ..แม้กระทั่งวัดแล้วพบว่าสูง หลายคนยัง เข้าใจผิดคิดว่าความดันสูงเป็นปรกติของตัวเอง เพราะไม่รู้สึกผิดปกติ

แต่การที่ไม่มีอาการนี่แหละคะ..ถ้าทิ้งไว้โดยไม่รักษานานเข้า จะทำให้ หัวใจโต ตามด้วย..หัวใจวายล้มเหลวเฉียบพลัน..หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน..หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบจนเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต..ไตวาย..จอประสาทตาเสื่อมจนตาบอด ได้เลยทีเดียว

แนวทางมาตรฐานใหม่ล่าสุด ในการรักษา ความดันโลหิตสูง ESC 2018 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง แนวทางหลัก ของ วงการแพทย์ทั่วโลก ตามประกาศใช้เมื่อ 25 สค.2018 ในการประชุมใหญ่ของแพทย์โรคหัวใจ ที่ กรุงมิวนิค เยอรมนี..

ได้แนะนำกฏเกณฑ์ใหม่ๆ ใน การดูแลรักษาความดันโลหิตสูง ดังนี้คะ

1. ขั้นตอนแรก..วิธีการวัดความดันโลหิต

วิธีการวัดความดันโลหิต เพื่อวินิจฉัย ความดันโลหิตสูง ต้องถูกต้องและสำคัญมาก มิเช่นนั้นเราจะได้ ความดันโลหิตสูงปลอม คือ
ต้องวัดใน ท่านั่ง..นั่งอย่าง ผ่อนคลาย..สงบเงียบ..ไม่พูดคุย..นั่งบน เก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง และ นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที ก่อนวัด

ถ้าวัดที่ สถานพยาบาล เช่น คลินิก หรือ โรงพยาบาล ให้วัด 3 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกัน 1-2 นาที แล้วนำตัวเลข เฉพาะ 2 ครั้งหลัง บวกกันแล้วเฉลี่ยหาร 2 เป็น ค่าตัวเลขความดันของครั้งนั้นๆ

ถ้า 2 ครั้งแรก แกว่งแตกต่างกันเกิน 10 ให้วัดเพิ่มครั้งที่ 4 อีกด้วย แล้วนำตัวเลข ครั้งที่ 3 บวกครั้งที่ 4 เฉลี่ยหาร 2 เป็น ค่าตัวเลขความดันของครั้งนั้นๆ

จะทำให้การวินิจฉัย ไม่ผิดพลาดคะ

ถ้าวัดเองด้วยเครื่อง ที่บ้าน ในแต่ละวันให้วัด ก่อนอาหารเช้า และ ก่อนอาหารเย็น โดยวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 1-2 นาที ก่อนอาหารเช้า และอีก 2 ครั้ง ห่างกัน 1-2 นาที ก่อนอาหารเย็น

วัดแบบนี้ ติดต่อกัน 3 วันก่อนพบแพทย์ หรือถ้าเป็นไปได้ดีที่สุด คือ ติดต่อกัน 6-7 วันก่อนพบแพทย์ โดยนำ ตัวเลขที่วัดได้ทุกครั้งทั้งหมดทุกวัน บวกกันแล้วหารเฉลี่ย เป็น ค่าตัวเลขความดันของครั้งนั้นๆ

2. ขั้นตอนที่สอง..การวินิจฉัยว่าเป็น ความดันโลหิตสูง

ถ้าวัดที่สถานพยาบาล (คลินิก หรือ โรงพยาบาล) ใช้เกณฑ์ 140/90 ขึ้นไป (ตัวบน 140 และ/หรือ ตัวล่าง 90 ขึ้นไป) จึงเรียกว่าเป็น ความดันโลหิตสูง คะ

  • 140-159/90-99 คือ ความดันโลหิตสูงระดับที่ 1
  • 160-179/100-109 คือ ความดันโลหิตสูงระดับที่ 2
  • 180/110 ขึ้นไป คือ ความดันโลหิตสูงระดับที่ 3

การจะบอกว่าเป็น ความดันโลหิตสูง นั้นควรจะวัดได้เข้าเกณฑ์ 140/90 ขึ้นไป ในการมาพบแพทย์ 2 ครั้ง ด้วยนะคะ.ถ้าครั้งเดียว อย่าเพิ่งรีบสรุปว่าเป็น..
ยกเว้น..ถ้าสูงระดับ 3..ครั้งเดียวนี่สรุปว่าเป็นเลยคะ

ถ้าวัดเองที่บ้าน ใช้เกณฑ์ 135/85 ขึ้นไป เรียกว่าเป็น ความดันโลหิตสูง

3. ขั้นตอนที่สาม..ใครบ้างที่จะต้องเริ่มกินยาลดความดันเลย และ ใครบ้างที่จะให้เวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูก่อน

จำง่ายๆคะ..เริ่มกินยาเลยทุกคนที่ความดัน 140/90 ขึ้นไป..ยกเว้น แค่ 3 กลุ่ม คือ..

กลุ่มแรก คือ คนที่ความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ที่ไม่มีโรคเบาหวาน, ไม่มีโรคไต, ไม่มีโรคหัวใจ, ไม่มีโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต, ไม่มีภาวะแทรกซ้อนในจอประสาทตา และ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น อายุไม่เกิน 45 (ชาย) หรือ 55 (หญิง), ไม่สูบบุหรี่, ไม่มีไขมันผิดปรกติ และ ไม่มีประวัติครอบครัวพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหลอดเลือดตีบก่อนวัยอันควร

กลุ่มนี้จะให้เวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3-6 เดือน ก่อนคะโดยงดอาหารเค็ม ถ้าอ้วนน้ำหนักเกินให้ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักและพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้ายังลงไม่ถึงเป้าหมาย แพทย์จึงจะเริ่มให้รับประทานยา

กลุ่มที่สอง คือ คนที่อายุ 80 ปีขึ้นไป..กลุ่มนี้แพทย์จะเริ่มทานยาเมื่อ ความดันตัวบน 160 ขึ้นไป และ/หรือ ตัวล่าง 90 ขึ้นไป เท่านั้น

กลุ่มที่สาม คือ คนไข้ที่เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต(ที่พ้น 3 วันแล้ว) หรือ เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ..กลุ่มนี้ บางราย แพทย์อาจจะให้ทานยาเลยตั้งแต่ ความดัน 130/85 ขึ้นไป

4. ขั้นตอนที่สี่..จะเริ่มต้นด้วยยาลดความดันกี่ตัว

แพทย์มักจะให้..เริ่มต้นด้วยยา 2 ตัวเสมอ เนื่องจาก เราต้องการ ความเร็ว และ ความแรง ในการไปถึงเป้าหมาย ซึ่งเป็น จุดที่สำคัญมาก และ แนะนำให้ใช้ ยาที่ผสมรวมยา 2 ตัวอยู่ในเม็ดเดียว จะดีกว่า ยาแยกเม็ด เพราะคนไข้จะกินง่าย

ยกเว้น อยู่ 4 กลุ่ม คะ..ที่จะ เริ่มด้วยยาตัวเดียว ได้แก่..

  • กลุ่มแรก..ความดันสูงระดับที่ 1 ที่ตัวบนน้อยกว่า 150 และไม่เป็นโรคเบาหวาน, โรคไต, โรคหัวใจ, โรคอัมพฤกษ์อัมพาต, ไม่มีภาวะแทรกซ้อนในจอประสาทตา และ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
  • กลุ่มที่สอง..อายุ 80 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มที่สาม..อายุ 65-79 ปี ที่ดูไม่แข็งแรง ดูจะหกล้มได้ง่าย หรือ มีโรคอื่นๆร่วมด้วย
  • กลุ่มที่สี่..คนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต บางราย ที่แพทย์ตัดสินใจให้ทานยารักษาความดันโลหิต ที่ความดันตัวบนระดับ 130-139 และ/หรือ ตัวล่าง 85-89

5. ขั้นตอนที่ห้า..เลือกชนิดยาลดความดัน

เลือกยากลุ่ม ACEI หรือ ARB เป็นตัวแรกเสมอ ถ้าไม่มีข้อห้าม

ตัวที่จะใช้ร่วมเป็นตัวที่ 2 คือ CCB (Calcium channel blocker) หรือ Diuretic (Thiazide หรือ Thiazide-like)

6. ขั้นตอนที่หก..กำหนดเป้าหมายของความดันโลหิต ดังนี้..

ตัวบน

ดู อายุ เป็นสำคัญคะไม่ต้องสนใจว่าจะเป็น เบาหวาน, โรคหัวใจ, อัมพฤกษ์อัมพาตหรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น

– อายุน้อยกว่า 65 ปี..เป้าหมายคือ 120-129 (อย่าให้ต่ำกว่า 120 ด้วยนะคะ)
– อายุ 65 ปีขึ้นไป..เป้าหมายคือ 130-139 (อย่าให้ต่ำกว่า 130 ด้วยนะคะ)
– แต่ถ้ามี โรคไต..เป้าหมายคือ 130-139 ทุกช่วงอายุ
(แต่ถ้าอายุน้อยกว่า 65 ให้ลดเป็น 130ต้นๆ)

ตัวล่าง

เป้าหมาย คือ 70-79 ทุกราย

7. ขั้นตอนที่เจ็ด..กำหนดระยะเวลา ในการถึงเป้าหมาย ดังนี้..

สำหรับกลุ่มความดันสูงระดับที่ 1 ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ, ไม่มีโรคไต, เบาหวาน และ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่รักษาด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยยังไม่ใช้ยา จะให้เวลา 3-6 เดือน ในการถึงเป้าหมาย ถ้าครบ 3-6 เดือนแล้ว ความดันยัง สูง 140/90 ขึ้นไป
ต้องทานยาคะ..อย่ารอช้า

– ทุกกลุ่มที่ทานยาแล้ว..ต้องปรับยาให้คุมถึงเป้าหมายภายในไม่เกิน 3 เดือน

8. ขั้นตอนที่แปด..ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทุกราย

  • ลดเค็ม..จำกัด โซเดียม ไม่เกิน 2 กรัม/วัน (เทียบเท่ากับ เกลือแกง ไม่เกิน 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา/วัน)
  • รับประทานผัก ผลไม้สด, ถั่ว, ธัญพืช, โฮลเกรน
  • รับประทานกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก
  • หลีกเลี่ยงกรดไขมันอิ่มตัว เช่น ของทอด ของมันต่างๆ ,น้ำมันหมู, น้ำมันปาล์ม, น้ำมันมะพร้าว
  • ลดเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู
  • ทานปลา
  • งดสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักตัว..เป้าหมายคือ ดัชนีมวลกาย 20-25 และ รอบเอวไม่เกิน 80 ซม.(32 นิ้ว)(หญิง) และ 94 ซม.(37.6 นิ้ว)(ชาย)
  • ออกกำลังกายแบบแอโรบิกความเหนื่อยระดับปานกลาง วันละ 30 นาที..สัปดาห์ละ 5-7 วัน
  • อย่าดื่มแอลกอฮอล์ถึง 14 ยูนิต/สัปดาห์ (ชาย) หรือ 8 ยูนิต/สัปดาห์ (หญิง) (1 ยูนิต = ไวน์ 125 มล.หรือ เบียร์ 250 มล.) และ สำหรับผู้ที่นานๆดื่มทีก็ควรหลีกเลี่ยง การดื่มแบบครั้งเดียวหนักๆหักโหม (binge drinking) เพราะมีผลต่อความดันสูงเช่นกัน
  • ทานอาหารที่มีโพแตสเซี่ยมสูงๆ เช่น ถั่วต่างๆ, เนื้อปลาแซลมอน, มะละกอ, กล้วย ส้ม, ลูกเกด

จำง่ายๆคะ..ลดมัน..หั่นบุหรี่..หนีเค็ม..เพิ่มผัก..ลดน้ำหนัก..ออกกำลังกาย..สลายแอลกอฮอล์..ขอโปแตสเซี่ยม..แล้วความดันที่ดีเยี่ยม จะตามมาคะ


สำหรับการแพทย์บูรณาการจะพบสาเหตุของความดันโลหิตสูงในบางรายว่ามาจาก การสะสมของโลหะหนักร่วมกับคราบคลอเรสตอรอล และน้ำหนักที่เกิน

จึงมีการเสริมการควบคุมความดันโลหิต ด้วยการกำจัดโลหะหนักร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกาย

พบว่าหลายท่านที่น้ำหนักเกินเมื่อลดน้ำหนักลงได้ทุก 5 กิโลกรัม ความดันโลหิตลงมาได้ 10 มม. ปรอท เลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังสามารถรักษาร่วมกับการให้ไอวีดริบ (IV Drip Therapy) เพื่อกำจัดคราบปลากคลอเลสตอรอล และให้สารต้านอนุมูลอิสระร่วมกับวิตามิน ช่วยให้เส้นเลือดยืดหยุ่นดีความดันลงมาปกติ

บางรายอาจมีสาเหตุจากการขาดฮอร์โมนในวัยทอง ซึ่งการแก้โดยแพทย์ผู้เขี่ยวชาญศาสตร์การแพทย์ขะลอวัย จะเสริมฮอร์โมนทดแทนด้วยสารสกัดจากธรรมชาติที่ไม่มีผลข้างเคียง

ก็จะช่วยได้คะ อาจร่วมกับการฝังเข็มและนวดกดจุดฝังเข็มทำให้ความดันโลหิตปรับลงมาปกติได้ดี และเร็วโดยไม่มีผลข้างเคียงคะ

อย่าลืมว่าคนที่เป็น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน, โรคอัมพฤกษ์อัมพาต หรือ โรคไตวายจนต้องฟอกไต นั้น ส่วนใหญ่ มีต้นเหตุมาจาก ความดันโลหิตสูงมาก่อน แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องคะ

การหมั่นวัดความดันโลหิตเสมอๆ และปรึกษาเเพทย์เมื่อมีความผิดปกติและเข้ารับการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ ปลอดภัยไว้ก่อนเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรละเลยนะคะ เพื่อป้องกันโรคหัวใจ หลอดเลือด สมองและไต อวัยวะที่สำคัญๆของเราให้แข็งแรงอยู่คู่กับเราไปนานๆคะ


เชิญรับการตรวจและปรึกษาสุขภาพได้ที่สถาบันสุขภาพผิวหนังและการแพทย์ชะลอวัยแบบองค์รวมดร.อรวรรณได้ที่
-สาขาสุขุมวิท 02-6614431
-สาขาภูเก็ต 076-377679
– หรือแวะปรึกษาด้วยตนเองที้ BTS ชิดลม
ทุกวัน 8.30-18.30น

ขอบคุณที่ช่วยแชร์บทความที่มีประโยชน์นี้เพื่อคนที่คุณรักและหทวงในคะ

Photo: Freepik

 

Add a comment

*Please complete all fields correctly

Related Blogs/บทความที่น่าสนใจ

Posted by Dr. Orawan | พฤษภาคม 31, 2023
หัวไชเท้า ทานอาหารเป็นยา
หัวไชเท้า ❤️ เมื...
Posted by Dr. Orawan | พฤษภาคม 31, 2023
HIIT ( high intensity interval training )
HIIT ( high intensity interval...
Posted by Dr. Orawan | ธันวาคม 20, 2022
ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดคือช่วงที่ความมั่นใจในตัวเองพุ่งถึงขีดสูงสุด
ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดคือช่ว...